พระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร.
สืบเนื่องจากพุทธศักราช ๒๕๐๖ พระสาสนโสภณ แห่งวัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี ได้จัดสร้างพระพุทธรูปแบบ สุโขทัยปางประทานพร โดยนำแบบของพระพุทธรูปที่สร้างในโอกาส ๗๒ ปีศิริราช ซึ่งพระธรรมจินดาภรณ์ (ทองเจือ จินฺ ตากโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นผู้ออกแบบ และได้ขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.
ไปประดิษฐานเหนือผ้าทิพย์ และแก้ไขให้นิ้วพระหัตถ์ขวาที่ทอดลงให้กระดกมากขึ้น พระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร. รุ่นเทวสังฆาราม จึงนับเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.ประดับที่ผ้าทิพย์ขึ้น เป็นครั้งแรก และเป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงนำไปพระราชทานแด่ ทหาร ตำรวจ และหน่วยราชการ เป็นที่ซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริที่จะหล่อพระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร. ขึ้น เป็นครั้งที่สองที่วัดบวรนิเวศวิหาร ในช่วงเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘
โดยมีพระราชประสงค์ให้ดัดแปลงพระพุทธลักษณะจากพระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร.รุ่นเทวสังฆาราม พระราชทาน พระราชดำริเรื่องรูปแบบของพระพุทธลักษณะเพิ่มเติมว่า พระพุทธรูปนี้ควรมีความเข้มแข็ง แต่ไม่แข็งกระด้าง อ่อนโยนแต่ ไม่อ่อนแอ มีพระเมตตา ผู้ที่ได้ชื่นชมพระพุทธรูปองค์นี้หากมีจิตใจอ่อนไหวก็ให้รู้สึกเข้มแข็ง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ประติมากรเป็นผู้ปั้นแบบพระพุทธรูปขึ้นใหม่ตามแนวพระราชดำริ
ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ พร้อมพระราชทานภาษิตเป็นภาษาบาลี และไทยจารึกที่ฐานพระพุทธรูปว่า
ทยฺยชาติยา สมคฺติยํ สติสญฺชานเนน โภชิสิยํ รกฺขนฺติ คนชาติไทยจะรักษาความเป็นไทอยู่ได้ด้วยมีสติสำนึกอยู่ในความสามัคคี
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชพิธีหล่อพระพุทธรูป ณ วัดบวรนิเวศวิหาร มีพระราชประสงค์ให้ประชาชนเช่าสักการะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล
พระพุทธนวราชบพิตร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๙ โดยมีนายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ เป็นผู้ปั้นแบบถวาย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ทรงดูแลและพระราชทานพระราชวินิจฉัยอย่างใกล้ชิดจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หล่อขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๙ จำนวน ๑๐๐ องค์ พระราชทานนามว่า พระพุทธนวราชบพิตร ลักษณะสำคัญของพระพุทธนวราชบพิตรคือ บรรจุพระสมเด็จจิตรลดา พระพิมพ์ส่วนพระองค์ที่ทรงสร้างด้วยพระองค์เอง ไว้ที่กึ่งกลางฐานบัวหงาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรแก่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และหน่วย ทหาร รวมทั้งหน่วยงานที่ไปปฏิบัติงานที่ประเทศเวียดนาม โดยได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานที่จังหวัดหนองคาย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๑๐ เป็นแห่งแรก พระพุทธนวราชบพิตร ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งพระเมตตากรุณาที่ทรงพระราชทานให้กับพสกนิกรทั่วประเทศเพื่อสร้างขวัญ กำลังใจให้กับคนไทยทั้งชาติ ประกอบกับมวลสารศักดิ์สิทธิ์ที่ทรงบรรจุในเนื้อพระพิมพ์สมเด็จพระจิตรลดา ซึ่งประดิษฐาน ที่ฐานองค์พระด้วยนั้น นับว่าพระพุทธนวราชบพิตรเป็นนิมิตรหมายแห่งความเป็นหนึ่งเดียวของชาติไทย ดังในพระราช ดำรัสเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรให้กับจังหวัดอุดรธานีว่า “ พระพุทธนวราชบพิตรนี้ นอกจากจะถือเป็นนิมิตรหมายแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยอันเป็นที่เคารพสูงสุดแล้ว ข้าพเจ้ายังถือเสมือนเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชาติไทย และความสามัคคีกลมเกลียวกันของ ประชาชนชาวไทยอีกด้วย ข้าพเจ้าจึงได้บรรจุพระพิมพ์ ซึ่งทำด้วยผงศักดิ์สิทธิ์จากทุกจังหวัดดังกล่าวแล้ว และนำมามอบให้แก่ท่านด้วยตนเอง” สำนักพระราชวังได้ออกระเบียบการปฏิบัติสำหรับจังหวัดที่รับพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร มีสาระสำคัญ ดังนี้
๑ ให้ประดิษฐานไว้ ณ ที่อันควรในศาลากลางจังหวัด
๒ เมื่อมีงานพิธีให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรขึ้นประดิษฐานเป็นพระบูชา อาจมียกเว้นได้ตามความเหมาะสม
๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานในพระราชพิธีที่ทางจังหวัดจัดขึ้น ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระราชพิธี
๔ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจ ณ จังหวัดใด ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรมาประดิษฐานไว้เพื่อทรงนมัสการ
๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรม ณ จังหวัดใด ให้อัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตร มาประดิษฐาน ณ ที่ประทับ ๖ ทางจังหวัดสามารถอัญเชิญพระพุทธนวราชบพิตรออกให้ประชาชนนมัสการบูชาได้ตามแต่จะเห็นสมควร
ความเป็นมาและความสำคัญของพระพุทธรัตนสถาน พุทธศักราช ๒๓๙๔
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระที่นั่งพุทธรัตนสถาน เพื่อเป็นพระวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย (พระแก้วขาว) อัญเชิญมาจากเมืองจำปาศักดิ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๕๕ พระพุทธปฏิมาองค์นี้ มีความสำคัญรองลงมาจากพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)
พุทธศักราช ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต แล้วเสร็จจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัญเชิญพระพุทธบุษยรัตน์ฯ ไปประดิษฐานไว้ที่ชั้น ๓ ของพระที่นั่งอัมพรสถานจนถึงปัจจุบันนี้
พระพุทธรัตนสถานตั้งอยู่ที่สวนศิวาลัย เขตพระราชฐานชั้นกลาง ด้านตะวันออกในพระบรมมหาราชวัง เป็นอาคารที่สร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม ในพุทธศักราช ๒๔๑๖ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แปลงพระพุทธรัตนสถานเป็นพระอุโบสถ ผูกพัทธสีมา สำหรับการทำสังฆกรรม ในพิธีทัฬหีกรรมขณะทรงพระผนวช และได้เป็นราชประเพณีสืบมาที่พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมวงศ์ที่ทรงผนวชที่ วัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว จะเสด็จไปทำทัฬหีกรรม ณ พระพุทธรัตนสถาน
พระพุทธรัตนสถานเป็นสถานที่สำคัญใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญทางพุทธศาสนามาหลายรัชสมัย จนกระทั่งพุทธศักราช ๒๔๘๔ เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีระเบิดตกลงในพระบรมมหาราชวัง ด้านข้างพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน ทำให้ได้รับความเสียหายโดยเฉพาะฐานด้านเหนือของพระอุโบสถ แต่ด้วยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ที่ยังทรงพระเยาว์ และทรงศึกษาอยู่ต่างประเทศ จึงยังไม่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แต่ประการใด
จิตรกรรมฝาผนังในพระพุทธรัตนสถาน พุทธศักราช ๒๕๐๔
จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จึงได้มีการบูรณะซ่อมแซมตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ - ๒๔๙๖ จนแล้วเสร็จสมเกียรติแห่งพระราชฐาน และในปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ สำนักพระราชวังได้มอบหมายให้กรมศิลปากร ดำเนินการเขียนจิตรกรรมฝาผนังระหว่างช่องพระบัญชร ๘ ช่อง เป็นเรื่องพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจใน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พุทธศักราช ๒๔๘๘-๒๔๙๙ โดยการเขียนภาพทั้งหมดนั้นอยู่ในการดูแลและรับผิดชอบของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี บรมครูของวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย พร้อมด้วยคณาจารย์ และข้าราชการจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ลักษณะของภาพจิตรกรรมเป็นแบบไทยประเพณีร่วมสมัยที่ผสมผสานความเป็นจริงจากเหตุการณ์ในขณะนั้น ด้วยการวาดภาพบรรยากาศและบุคคลตามจริง
การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถานรัชกาลปัจจุบัน
วันที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปสมโภชวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จังหวัดนนทบุรี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบ ทอดพระเนตรและทรงทราบถึงแนวทางการอนุรักษ์จิตรกรรม ฝาผนังเก่าได้ด้วยการถอดลอกจิตรกรรมเดิมไปอนุรักษ์ไว้ จึงมีพระราชปรารภให้กรมศิลปากรนำแนวทางการอนุรักษ์ เช่นนี้ไปดำเนินการกับจิตรกรรมฝาผนังทั้ง ๘ ช่อง ที่เขียนขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ แล้วเขียนใหม่ให้สอดคล้องและกลมกลืนกับจิตรกรรมฝาผนังเดิมตอนบนซึ่งเป็นเรื่องประวัติของพระพุทธบุษยรัตน์ ที่วาดไว้ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ เพื่อให้เป็นไปตามเจตคติของช่างไทยโบราณในการวาดจิตรกรรมฝาผนังไทยซึ่งจะกำหนดภาพผลงานให้เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธประวัติ หรือประวัติความสำคัญของสถานที่เป็นเรื่องสำคัญ
กรมศิลปากรรับพระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานเขียนภาพจิตรกรรมพระพุทธรัตนสถาน โดยมีแนวทางที่จะอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนังชุดเดิมที่เขียนเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๔ ด้วยการลอกและเคลื่อนย้ายไปตั้งแสดงในที่เหมาะสม และทำการเขียนจิตรกรรมฝาผนังขึ้นใหม่ให้เป็นแบบจิตรกรรมไทยให้เนื้อเรื่องเกี่ยวกับประวัติการสร้างพระพุทธรัตนสถานตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธรัตนสถานในทุกรัชกาล ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
คณะทำงานพิจารณา กำหนดแนวทางการดำเนินงาน รวมทั้งเชิญผู้เชี่ยวชาญและศิลปินเข้าร่วมในการปฏิบัติงาน โดยได้เขียนภาพตัวอย่างศิลปกรรมหลากหลายแบบ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานพระราชวินิจฉัยนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป และได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้กรมศิลปากรเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชกระแสรวม ๔ ครั้ง ในระหว่างพุทธศักราช ๒๕๔๒ - ๒๕๔๕ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
สรุปสาระสำคัญในพระราชดำริ ดังนี้
๑ เนื้อหาของจิตรกรรมควรยึดเรื่องประวัติพระพุทธรัตนสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมราชจักรีวงศ์
๒ ลักษณะและรูปแบบของภาพจิตรกรรมควรเป็นแนวเดียวกันกับของเดิมด้านบนที่เขียนตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๓ รักษาลักษณะของจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยประเพณี ใช้หลักการจัดภาพในมุมมองแบบวิวตานกเป็นจิตรกรรมไทยแบบสองมิติ
๔ ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ที่ควรถูกต้องทั้งด้านข้อมูล สถาปัตยกรรม ประเพณี พระราชพิธีต่างๆ เครื่องแต่งกาย และประวัติศาสตร์ศิลปะ
๕ ภาพจิตรกรรมที่เหมือนจริง ให้เขียนภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และบุคคลสำคัญ ตามที่เป็นจริง หลังจากที่ได้รับพระราชทานแนวพระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยอย่างละเอียดและต่อเนื่อง จนสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการกำหนดเนื้อหาในแต่ละช่อง ดังนี้
พระราชทานพระราชดำรัสแบบร่าง ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อวันศุกร์ที่ ๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕ “การเขียนภาพนี่ก็ต้องไปแก้ไขกันใหม่ ฉันก็เกรงใจอยู่ แต่รักมากที่โบสถ์นี้สวยมาก ถ้าได้รูปที่มีความหมายก็จะสวยมาก นี่ฉันเห็นแล้วพอใจขึ้นมาก ดูแล้วไม่สมัยโบราณเกินไป และใหม่เกินไป” พระราชดำรัสพระราชทานคณะทำงาน (กรมศิลปากร, ๒๕๔๘, เล่ม ๒ : ๗๘)
พระอารามหลวงชั้นตรี
วัดประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกำเนิดมาจากแนวพระราชดำริที่มีพระราชประสงค์ให้ วัดเป็นศูนย์กลางและตัวอย่างของชุมชน ตามหลัก บวร หมายถึง บ้าน วัด ราชการ ระยะแรก ในช่วงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมรอบพื้นที่ชุมชนบึงพระราม ๙ จนต่อมากลายเป็น โครงการบึงพระราม ๙ ในปัจจุบันที่ดำเนินงานเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำเน่าเสียและพัฒนาสภาพแวดล้อมรอบชุมชนให้น่าอยู่ยิ่งขึ้นพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมให้ควรจัดตั้งวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนในพื้นที่ จึงได้เป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการสร้างวัด โดยเริ่มก่อสร้างในพุทธศักราช ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามวัดว่า วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก
พระราชประสงค์สำคัญในการสร้างวัด คือ ประหยัด เรียบง่าย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน ทรงติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทรงปรับงบประมาณลงจากเดิม ๑๐๐ ล้านบาทเป็นไม่เกิน ๑๐ ล้านบาท พร้อมทั้งมีพระราชวินิจฉัย ให้ลดขนาดพระอุโบสถ และอาคารแวดล้อมให้มีขนาดเล็กลงตามงบประมาณใหม่ เพื่อเป็นวัดตัวอย่างสืบต่อไป นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติ เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบถวายงานตามแนวพระราชดำริ ได้ออกแบบอาคารให้สวยงามและเรียบง่าย มุ่งเน้นที่จะใช้ประโยชน์ภายในอาคารอย่างเต็มที่ ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นการประสานศิลปกรรมไทยแบบโบราณ และความร่วมสมัยเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน
สถานที่ตั้งของวัด : เลขที่ ๙๙๙ ซอย ๑๙ ถนนพระราม ๙ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
พระพุทธกาญจนธรรมสถิต
สำหรับพระประธานในพระอุโบสถ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยเลือกแบบพระพุทธรูปปางมารวิชัยและพระราชทานพระราชวินิจฉัยแก้ไขแบบแล้วพระราชทานนามว่า พระพุทธกาญจนธรรมสถิต ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ประติมากรเป็นผู้ปั้น ระหว่างพุทธศักราช ๒๕๓๙ - ๒๕๔๐
พระมหาชนก พระราชนิพนธ์ร้อยแก้วในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำเค้าโครงเรื่องมาจากมหาชนกชาดกซึ่งเป็น หนึ่งในทศชาติชาดก ปรากฏอยู่ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายชาดก เล่มที่ ๔ ภาคที่ ๒ ทรงแปลพระมหาชนกเสร็จสมบูรณ์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษกทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์พระมหาชนกขึ้นเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทรงมุ่งเน้นให้นำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนามาเป็นแนวทางดำเนินชีวิตเพื่อความเป็นสิริมงคล ดังปรากฏในพระราชปรารภว่า
ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ ปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์
พระราชนิพนธ์เล่มนี้นอกเหนือจากพระปรีชาสามารถทางด้านวรรณกรรมแล้ว พระองค์ยังได้ทรงรังสรรค์ผลงานด้าน ศิลปกรรมตามแนวพระราชดำริในฐานะผู้สร้างสรรค์ และผู้ออกแบบ คือ
๑ จิตรกรรมไทยร่วมสมัย
๒ เหรียญพระมหาชนก
๓ แผนที่ฝีพระหัตถ์
๔ ตัวอักษรเทวนาครี
(สำหรับหัวข้อแผนที่ฝีพระหัตถ์และตัวอักษรเทวนาครี ได้กล่าวแล้วในหัวข้อนฤมิตศิลป์)
จิตรกรรมไทยร่วมสมัย
ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ ในช่วงการดำเนินการจัดพิมพ์พระมหาชนกนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สมบูรณ์ทั้งด้านเนื้อหาและศิลปะอย่างแท้จริง ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะนำเสนอภาพจิตรกรรมไทยแบบร่วมสมัยเพื่อให้หนังสือมีความงดงามวิจิตร สมบูรณ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ศิลปินร่วมสมัยชั้นนำของไทยร่วมสร้างสรรค์จิตรกรรมอันทรงคุณค่าวาดภาพประกอบพระราชนิพนธ์ โดยมีพิษณุ ศุภนิมิตร เป็นหัวหน้าโครงการ และรวบรวมจิตรกรไทยชั้นเยี่ยม จำนวน ๘ ท่าน ร่วมกันสร้างผลงานจิตรกรรมตามพระราชประสงค์ ตามรายชื่อ ดังนี้
๑ ประหยัด พงษ์ดำ
๒ พิชัย นิรันต์
๓ ปรีชา เถาทอง
๔ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
๕ ปัญญา วิจินธนสาร
๖ ธีระวัฒน์ คะนะมะ
๗ จินตนา เปี่ยมศิริ
๘ เนติกร ชินโย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้ศิลปิน และคณะทำงานได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อรับพระราชทานแนวพระราชดำริ และมีพระราชวินิจฉัยผลงานของศิลปินอย่างใกล้ชิดจนงานสำเร็จลุล่วง
เหรียญพระมหาชนก ในการจัดพิมพ์พระราชนิพนธ์พระมหาชนกครั้งแรกฉบับปกแข็ง เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้จัดสร้างเหรียญพระมหาชนกควบคู่ไปพร้อมกัน โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประติมากรไทยร่วมกันออกแบบถวายตามแนวพระราชปรารภเรื่องความเพียร ทรงมีพระราชกระแสควรเป็นรูปพระมหาชนกกำลังว่ายน้ำ และหันมาสนทนาธรรมกับนางมณีเมขลากลางมหาสมุทร ซึ่งแนวพระราชดำรินี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงเขียนภาพชนกชาดก ตอน พระชนกโพธิสัตว์ว่ายน้ำกลางมหาสมุทรตรัสโต้ตอบกับนางมณีเมขลาเช่นเดียวกันนี้ไว้เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๘ จึงนำมาเป็นต้นแบบที่ด้านหนึ่งของเหรียญ รูปทรงของเหรียญพระมหาชนกเป็นเหรียญทรงกลมประดับยอดด้วยพระมหาพิชัยมงกุฎ และพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.
ด้านหน้า เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์หล่อนูนต่ำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ด้านล่างพิมพ์คำว่า “วิริยะ” ตามด้วยตัวอักษรเทวนาครี และภาษาอังกฤษคำว่า “Perseverance”
ด้านหลัง เป็นภาพพระมหาชนกกำลังว่ายอยู่กลางมหาสมุทร
มี ๓ แบบคือ เนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อนาก
ผู้ออกแบบเหรียญพระมหาชนก คือ นนทวิรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแนวหน้าของไทย