Supreme Artist : His Majesty King Bhumibol Adulyadej อัครศิลปิน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

Supreme Artist Music

Supreme Artist Music Supreme Artist Music
Supreme Artist Music

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความสนพระราชหฤทัยที่จะออกแบบและต่อเรือใบด้วยพระองค์เอง ในพุทธศักราช ๒๕๐๖ ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรมที่วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงกรรเชียงเรือใบในทะเลหัวหิน โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ได้ตามเสด็จด้วยเรือใบที่ทรงต่อเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นเรือใบดังกล่าว จึงมีพระราชประสงค์จะทรงต่อเรือด้วยพระองค์เอง ทรงเริ่มดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับเรือใบสากล ทรงออกแบบ ทดลองและต่อเรือใบขึ้นที่ห้องทรงงานช่างภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต

Map supreme

เรือใบที่ทรงต่อขึ้นด้วยพระองค์เองมี ๔ ประเภท คือ

Supreme
๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๐๗
ทรงนำเรือใบ “ราชปะแตน” ลงน้ำ
บริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต


๑ เรือใบสากลประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ (International Enterprise Class)
พุทธศักราช ๒๕๐๗ ทรงเริ่มต่อเรือใบพระที่นั่งลำแรก เป็นเรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ (International Enterprise Class) พระราชทานชื่อว่า เรือราชปะแตน มาจากคำว่า Royal Pattern หมายถึงแบบอย่างของพระราชา

พุทธศักราช ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เรือราชปะแตนเข้าร่วมแข่งขันเรือใบกับเจ้าชายฟิลลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร ในโอกาสที่เสด็จมาเยือนประเทศไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ และเรือลำอื่นๆ อีกรวม ๓๔ ลำ ใช้เส้นทางไปกลับ พัทยา-เกาะล้าน การแข่งเรือครั้งนี้นับเป็นการแข่งเรือครั้งแรกของพระองค์ และทรงชนะเลิศในการแข่งขันครั้งนี้ด้วย

ต่อมา ทรงต่อเรือใบประเภทนี้อีกลำ พระราชทานชื่อว่า เรือเอจี


Supreme
ทรงต่อเรือใบประเภทโอเค

Supreme
พุทธศักราช ๒๕๐๙ ทรงเรือใบ TH ๑๘ “เวคา” ข้ามอ่าวไทยจากอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ไปที่หาดเตยงาม อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
และทรงนำธงราชนาวิกโยธินมาปักที่หาดเตยงาม


๒ เรือใบสากลประเภทโอเค (International O.K. Class)
พุทธศักราช ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต่อเรือใบประเภทโอเค (International O.K. Class) พระราชทานชื่อว่า เรือนวฤกษ์ แปลว่า ฤกษ์ใหม่

ต่อมาก็ทรงต่อเรือประเภทนี้ขึ้นมาอีกลำ พระราชทานชื่อว่า เรือเวคา (Vega) ความหมายว่าดวงดาวที่สว่างสุกใส หลังจากนั้นทรงต่อเรือประเภทนี้ขึ้นอีกหลายลำ เช่น เรือเวคา ๑ เรือเวคา ๒ เรือเวคา ๓ เป็นต้น

๑๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรือใบ TH ๑๘ “เวคา” เสด็จพระราชดำเนินข้ามอ่าวไทยจากพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปยังหาดเตยงาม ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รวมระยะทางประมาณ ๖๐ ไมล์ทะเล โดยเสด็จเพียงลำพัง และทรงใช้เวลาในการแล่นใบประมาณ ๑๗ ชั่วโมง หลังจากนั้น ทรงนำธงราชนาวิกโยธินมาปักไว้ที่หาดเตยงามแห่งนี้

พุทธศักราช ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงร่วมแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง (SEAP Games) ครั้งที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เรือเวคา ๒ หมายเลข TH ๒๗ ที่ทรงต่อด้วยพระองค์เองเข้าแข่งขัน และทรงชนะเลิศเหรียญทองร่วมกันทั้งสองพระองค์


Supreme
ทรงเรือใบไมโครมด

๓ เรือใบสากลประเภทม็อธ (International Moth Class)
พุทธศักราช ๒๕๐๙ – ๒๕๑๐ ทรงออกแบบและทรงต่อเรือใบสากลประเภทม็อธ (International Moth Class) จำนวนหลายลำ มีสัญลักษณ์คือรูปมดปรากฏบนใบเรือ เรือใบประเภทม็อธที่ทรงออกแบบมีอยู่ด้วยกัน ๓ แบบ คือ

๓.๑ เรือใบมด (Mod)
ทรงพระราชทานชื่อให้เรือใบมดลำแรกที่ทรงต่อขึ้นว่า เรือมด ๑ ซึ่งเป็นเรือที่ได้ทรงนำไปแข่งขันเมื่อครั้งที่เสด็จประพาสสหราชอาณาจักร และทรงชนะเรือลำอื่น เรือใบมดเป็นเรือใบที่มีขนาดเล็กเหมาะกับคนไทย มีน้ำหนักเบา สะดวก ได้ทรงจดลิขสิทธิ์เรือใบแบบมดเป็นเรือประเภท International Moth Class ที่สหราชอาณาจักร

๓.๒ เรือใบซูเปอร์มด (Super Mod)
ทรงปรับปรุงและพัฒนาขึ้นจากเรือใบมด แต่มีขนาดใหญ่กว่า มีความเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น พระราชทานชื่อว่า เรือใบซูเปอร์มด และได้พระราชทานพิมพ์เขียวแก่สโมสรกรมอู่ทหารเรือ เพื่อใช้สร้างเรือในราคาย่อมเยา

๓.๓ เรือใบไมโครมด (Micro Mod)
เรือใบขนาดเล็ก เหมาะสำหรับผู้เล่นเพียงคนเดียว สร้างง่าย สะดวก และประหยัด ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก


Supreme
เรือโม้ก
เรือใบแบบสุดท้ายที่ทรงออกแบบและต่อขึ้น


๔ เรือโม้ก (Moke)
ลักษณะผสมระหว่างเรือใบสากลประเภทโอเค และ เรือใบซูเปอร์มด และเป็นเรือใบลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบและต่อด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๐ จากนั้นก็มิได้ทรงออกแบบและทรงต่อเรือใบอีก

พระสมเด็จจิตรลดา หรือที่เรียกกันในนาม พระกำลังแผ่นดิน หรือ หลวงพ่อจิตรลดา เป็นพระพิมพ์ส่วนพระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกแบบ และทรงสร้างเพื่อประดิษฐานไว้ที่ฐานบัวหงายของพระพุทธนวราชบพิตร

โดยในช่วงเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ แกะแบบแม่พิมพ์พระพุทธรูปบนหินลับมีดโกน และถอดแบบองค์พระพุทธรูปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายได้ มีพระบรมราชวินิจฉัยปรับปรุงแก้ไขจนได้แม่พิมพ์ตามที่มีพระราชประสงค์ จากนั้นทรงนำแม่พิมพ์ต้นแบบไปทรงหล่อ ได้ต้นแบบพระพุทธรูปขึ้นมาจำนวนหนึ่ง ทรงนำไปหล่อแม่พิมพ์ยาง ทรงเทหยอดพิมพ์ ทรงบรรจุเนื้อพระพิมพ์ที่ประกอบ ด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แล้วทรงถอดออกจากพิมพ์เป็นองค์พระ ทรงฝนและเจียรแต่งขอบด้วยพระหัตถ์ทุกองค์


พระสมเด็จจิตรลดา


ต้นแบบพระพุทธนวราชบพิตร ซึ่งเตรียมตำแหน่ง
สำหรับประดิษฐานพระสมเด็จจิตรลดาไว้ที่ฐานบัวหงาย



พระพุทธนวราชบพิตร


ตัวอักษรเทวนาครี
ที่ทรงแสดงในงานจุฬาวิชาการ’ ๓๐


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยในด้านเทคโนโลยีมาเป็นเวลานาน และจะทรงนำมาประยุกต์ในการทรงงานอยู่เสมอ เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๙ ทรงเริ่มใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการทรงงานส่วนพระองค์ทางด้านดนตรี ต่อมาได้ทรงทดลองใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อประดิษฐ์แบบอักษร ที่เรียกว่า อักขระคอมพิวเตอร์หรือฟอนต์ (Font) จนประสบผลสำเร็จ ทรงประดิษฐ์อักษรไทยได้หลากหลายรูปแบบ

ต่อมา ทรงประดิษฐ์ อักษรเทวนาครี โดยมีพระราชประสงค์ที่จะเขียนอักษรเทวนาครีกำกับในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก ทรงศึกษาตัวอักษรเทวนาครีด้วยพระองค์เอง จากหนังสือ และทรงสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาบาลีสันสกฤต

ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดงานจุฬาวิชาการ’ ๓๐ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงนำตัวอักษรเทวนาครีออกแสดงเป็นครั้งแรก โดยทรงสาธิตด้วยการพิมพ์ตัวอักษรเป็นคำ ปรากฏขึ้นที่จอคอมพิวเตอร์ และพระราชทานคำอธิบายประกอบ ให้ผู้ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ชมโดยทั่วกัน ทรงเริ่มพิมพ์คำแรกว่า “Chulalongkorn University” ที่ปรากฏเป็นตัวอักษรขนาดใหญ่เล็กลดหลั่นกันไปตามขนาด ต่อด้วยชื่อ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นภาษาสันสกฤต ด้วยตัวอักษรเทวนาครี หลังจากนั้นทรงพิมพ์พระนาม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “สิรินธรเทพรัตนสุดา” ด้วยตัวอักษรเทวนาครีตามด้วย ตัวอักษรโรมัน ซึ่งออกเสียงแบบภาษาสันสกฤต และอักษรไทยตามลำดับ ต่อจากนั้น ทรงพิมพ์ชื่อ “จิรายุ นพวงศ์” และ “สมชาย” เป็นอักษรเทวนาครี เรียงลงมาตามลำดับ

ผลงานออกแบบอีกชุดหนึ่งที่เป็นผลมาจากพระอัจฉริยภาพ และพระวิริยอุตสาหะในการศึกษาและประดิษฐ์อักษรด้วยคอมพิวเตอร์คือ ทรงใช้คอมพิวเตอร์ ปรุง ออกแบบ ส.ค.ส.พระราชทานพรปีใหม่ให้พสกนิกรชาวไทย แผนที่ฝีพระหัตถ์ และตำราฝนหลวงพระราชทาน


ส.ค.ส.พระราชทานเป็นข้อความพระราชทานพรปีใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ข้าราชบริพาร และผู้ถวายงานในหน่วยงานต่างๆ โดยเริ่มแรกเมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘ เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๒๙ ทรงพระราชทานโทรพิมพ์ปรุแถบตัวอักษรแสดงความขอบใจแก่ข้าราชบริพารและเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต ทรงลงท้าย ส.ค.ส. ด้วยรหัสประจำพระองค์ กส.๙ (กส.๙ คือรหัสประจำพระองค์รหัสหนึ่ง ซึ่งกรมไปรษณีย์โทรเลขทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อใช้ทรงงานผ่านวิทยุสื่อสาร) และถัดจากนั้นจะทรงระบุวันที่และเวลาที่ทรงจัดทำ ส.ค.ส.

ต่อมาเมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๙ ทรงปรุแถบโทรพิมพ์เป็นข้อความขอบใจ และพระราชทานพรปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๓๐ เป็นข้อคิดให้ผู้ปฏิบัติงานลงในกระดาษ แล้วทรงส่งโทรสารถึงหน่วยงานต่างๆ ทรงลงท้าย ส.ค.ส. ว่า กส.๙ ปรุ

ปีถัดมา พุทธศักราช ๒๕๓๐ ทรงเปลี่ยนวิธีการจากการปรุแถบโทรพิมพ์ มาทรงใช้คอมพิวเตอร์ประดิษฐ์ ส.ค.ส. พระราชทานพรปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๓๑ และทรงลงท้ายว่า ก.ส. ๙ ปรุง เป็นครั้งแรก เนื่องจากมิได้ทรงใช้การปรุแถบโทรพิมพ์ แต่เป็นทรงปรุงด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์

เมื่อเริ่มทรงใช้คอมพิวเตอร์ในการออกแบบ ส.ค.ส. จะทรงออกแบบตัวหนังสือให้หลากหลาย เพิ่มภาพและลวดลายประกอบที่ทรงวาดจากคอมพิวเตอร์ใส่ไว้ให้สวยงาม พิมพ์เป็นสีดำบนพื้นขาว ต่อมาพุทธศักราช ๒๕๔๘ ทรงออกแบบ ส.ค.ส. ๒๕๔๙ พิมพ์พระบรมฉายาลักษณ์สี่สีเป็นครั้งแรก ฉายพระรูปกับทองแดงสุนัขทรงเลี้ยง รวมถึงลูกหลานสุนัขทรงเลี้ยงอีกมากมาย พระราชทานเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ในปีถัดมา

แต่นั้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกแบบ ส.ค.ส.พระราชทานพรปีใหม่เผยแพร่ผ่านทางสื่อมวลชนสู่ประชาชนมาตลอดเป็นประจำทุกปี ยกเว้น พุทธศักราช ๒๕๔๘ ซึ่งประเทศไทยประสบเหตุการณ์สึนามิ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๗ ส.ค.ส.พระราชทานจะมีคำอวยพรและข้อความ ที่ในบางครั้งทรงแฝงพระอารมณ์ขัน แต่สื่อความหมายกระตุ้นเตือนใจประชาชนในแต่ละปี โดยจะแตกต่างกันไปตามสภาพเหตุการณ์ของประเทศในขณะนั้น นับเป็นของขวัญต้อนรับวันปีใหม่ที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยอันล้ำค่ายิ่ง

  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๓๑
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๓๒
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๓๓
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๓๔
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๓๕
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๓๖
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๓๗
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๓๘
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๓๙
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๔๐
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๔๑
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๔๒
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๔๓
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๔๔
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๔๕
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๔๖
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๔๗
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๔๙
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๕๐
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๕๑
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๕๒
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๕๓
  • ส.ค.ส. พระราชทาน พุทธศักราช ๒๕๕๔


ภาพแผนที่ฝีพระหัตถ์ทั้งหมด ๔ ภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจัดทำขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อใช้เป็นภาพประกอบในพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์เป็นครั้งแรกในโอกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๓๙

แผนที่ฝีพระหัตถ์ แสดงสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเมืองโบราณบางแห่งที่กล่าวถึงในพระราชนิพนธ์ รวมทั้งยังแสดงข้อมูลทางอุตินิยมวิทยาเกี่ยวกับทิศทางลม กับกำหนดวันเดินทะเล ตลอดจนจุดอับปางของเรืออับโชค ที่ทรงคาดคะเน โดยอาศัยข้อมูลทางโหราศาสตร์ ทรงนำเรื่องชาดกมาเทียบเคียงกับเรื่องสมัยใหม่ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น

ฉบับที่ ๑ พยากรณ์สำหรับออกเดินทางจากเมืองจัมปาในวันที่ ๒๐ เมษายน ไปสุวรรณภูมิ โดยสวัสดิภาพ

ฉบับที่ ๒ พยากรณ์สำหรับวันที่ ๒๔ เมษายน ว่าจะบรรลุที่หมายอันเลิศอย่างไม่คาดฝัน แม้จะล่าช้าไปบ้าง และต้องฝ่าอันตรายนานัปการ

ฉบับที่ ๓ พยากรณ์สำหรับวันที่ ๒ พฤษภาคม ซึ่งเกิดพายุ Tropical Cyclone

ฉบับที่ ๔ พยากรณ์สำหรับวันที่ ๙ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันอุโบสถ และเป็นวันที่พระมหาชนกว่ายน้ำเป็นวันที่ ๗


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์ภาพตำราฝนหลวงด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นภาพการ์ตูน แสดงขั้นตอน กรรมวิธีฝนหลวงทั้ง ๖ ขั้นตอน การดัดแปลงสภาพอากาศให้เกิดฝนจากเมฆอุ่น และเมฆเย็น พระราชทานแก่นักวิชาการฝนหลวง ให้ถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ สำหรับทำฝนหลวงช่วยเหลือประชาชน ซึ่งประกอบด้วยหลักการก่อเมฆ การเลี้ยงให้อ้วน และการโจมตี ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ วิธี คือการโจมตีเมฆอุ่นแบบแซนด์วิช การโจมตีเมฆเย็นแบบธรรมดา และการโจมตีเมฆเย็น แบบซูเปอร์แซนด์วิช ซึ่งเป็นการใช้ ๒ วิธีแรกรวมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้สูงขึ้น และเพื่อเร่งการตกของฝน ก็จะมีขั้นตอนที่ ๔ คือการเพิ่มฝน โดยการโปรยเกล็ดน้ำแข็งแห้ง ซึ่งจะทำให้ฝนตกสูงขึ้นมีปริมาณน้ำฝน และฝนตกต่อเนื่องเป็นเวลานานขึ้น

ตำราฝนหลวง แสดงให้ชาวไทยต่างประจักษ์ถึงพระอัจฉริยภาพและพระวิริยอุตสาหะที่จะพระราชทานความรู้ทั้งด้านศาสตร์และศิลป์ ซึ่งทรงนำภาพการ์ตูนมาแทนกรรมวิธีต่างๆ ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังทรงแฝงพระอารมณ์ขัน และวรรณกรรมไทยไว้ด้วยกัน นับเป็นงานออกแบบที่สร้างสรรค์ได้อย่างล้ำเลิศ

มูลนิธิชัยพัฒนา

Supreme
มูลนิธิชัยพัฒนา

พุทธศักราช ๒๕๓๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนาขึ้น โดยทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นองค์ประธาน เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนในลักษณะของการดำเนินงานพัฒนาต่างๆ ที่ระบบราชการไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เป็นการช่วยให้กระบวนการพัฒนาเกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมกำหนดแบบตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา และพระราชทานความหมายด้วยพระองค์เอง โดยมีหม่อมราชวงศ์มิตรารุณ เกษมศรี เป็นผู้เขียนแบบถวายรายละเอียด

ความหมายของตราสัญลักษณ์มูลนิธิชัยพัฒนาที่ทรงพระราชทาน ดังนี้
พระแสงขรรค์ชัยศรี หมายถึง พระราชอำนาจ พระบารมีที่จะฟันฝ่าให้เกิดการดำเนินการต่างๆ อันเป็นผลไปสู่ความมั่นคงแห่งพระราชอาณาจักร

ธงกระบี่ธุช เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะในการต่อสู้ เพื่อป้องกันอาณาประชาราษฎร์ และพระราชอาณาจักรให้พ้นภยันตรายทั้งปวง และประสบความสำเร็จในการต่อสู้นั้น

ดอกบัว หมายถึง ศักดิ์ศรี ความสงบร่มเย็น ความเจริญงอกงามและความบริบูรณ์แห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร และบรรดาทรัพยากรทั้งปวงอันจะนำไปสู่ความอยู่ดีกินดี และความสงบสันติสุขของประชาชนโดยทั่วหน้ากัน

สังข์ หมายถึง น้ำที่จะสร้างความชุ่มชื้น ชโลมแผ่นดินให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และความร่มเย็นเป็นสุข

สุวรรณชาด

Supreme
สุวรรณชาด

บริษัท สุวรรณชาด จำกัด ในพระบรมราชูปถัมภ์ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓ ก่อตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริ เพื่อสนับสนุนสินค้าไทย สร้างความภาคภูมิใจให้คนไทยช่วยกันใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศ ทำให้ประชาชนมีงานทำ ขยายไปทั่วทุกภูมิภาค

ความหมายของคำ สุวรรณชาด มาจากคำสองคำรวมกัน คือ สุวรรณ ซึ่งแปลว่า ทอง และชาด แปลว่า แดง รวมเป็น ทองแดง พ้องกับชื่อของ ทองแดง สุนัขทรงเลี้ยงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรด

ทรงออกแบบตราสุวรรณชาดเป็นภาพคำว่า สุวรรณชาด ในกรอบวงรี พื้นสีทอง ขอบสีแดง และได้พระราชทานให้หอการค้าไทยดำเนินการใช้ตรานี้ในการสร้างสินค้าไทยไปยังต่างประเทศ และได้ดำเนินการจดทะเบียนเมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๕

Rama IX Art Museum